Breaking News
Home / Innovating / Design thinking / 9 บทเรียนล้ำค่าด้านการสร้างนวัตกรรม จากในหลวงร. 9 และ Design Thinking 

9 บทเรียนล้ำค่าด้านการสร้างนวัตกรรม จากในหลวงร. 9 และ Design Thinking 

 

(บทความนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจเบื้องต้นเรื่อง Design Thinking มาบ้างแล้ว หากยังไม่รู้จัก Design Thinking สามารถคลิกอ่าน ทำความเข้าใจเบื้องต้นได้ที่ http://pintooh.com/?p=1559 (เขียนไว้คร่าวๆ ตรงกลางๆ บทความ) หรือ https://bit.ly/3lRnzcl  )

 

ประ.ทับ.ใจ.ยิ่ง.

ปกติพวกเราชาวไทยก็ประทับใจ และทึ่งในพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 กันอยู่แล้ว 

ถึงอย่างนั้น เมื่อยิ่งได้ศึกษา เจาะลึกวิถีชีวิตและการทำงานของในหลวงมากขึ้น ยิ่งรู้จัก ยิ่งอึ้ง ยิ่งทึ่ง ยิ่งซึ้ง ยิ่งตะลึง 

 

ณ จุดนี้ ท่านทราบหรือไม่ ในหลวง ร. 9 ทรงเคยคิดค้นเรื่องหุ่นยนต์ AI เป็นหุ่นยนต์คุณหมอ มาแล้วด้วย! แถมเปิดตัวมาแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2497! O_O!!!

เอาล่ะ สงบความตื่นเต้นตื้นตันสักครู่ แล้วมาเปิดดูขุมทรัพย์ล้ำค่า อย่างน้อย 9 อย่าง ถอดรหัสจากวิถีการสร้างนวัตกรรมของในหลวง รัชกาลที่ 9 ตามกระบวนการ Design thinking

 

1) แก่นแท้ของการคิดนวัตกรรม คืออะไร

 

“แก่นแท้ของนวัตกรรม คือ ความคิดที่จะช่วยเหลือผู้คนด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง”

นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ จากในหลวง ร. 9

 

มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง จากหนังสือ Wire to care* เขียนโดย Dev Patnaik* [*Wire to care = หนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดแห่งปีจัดลำดับโดย Fast Company และ Business Week หนังสือเล่มนี้ เกี่ยวกับ “Empathy” โดยเฉพาะ และเป็นหนึ่งในหนังสืออ่านล่วงหน้าก่อนเข้าคลาส Empathize หลักสูตรของสแตนฟอร์ด ; เขียนโดย Dev Patnaik คือ อาจารย์และที่ปรึกษาที่สแตนฟอร์ด และ CEO องค์กรกลยุทธ์และนวัตกรรม ]

ใจความว่า โลกนี้ไม่ได้ขาดนวัตกรรมหรอก แต่ขาด Empathy หรือ ความเข้าใจแบบร่วมรู้สึก (Empathy : บ้างแปลว่า “เห็นอกเห็นใจ” กล่าวคือ เป็นระดับความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึก และมุมมองของผู้อื่น โดยไม่ตัดสินคนนั้น จากประสบการณ์และมุมมองของเรา เป็นลักษณะ “ใจเขา ใจเรา” เช่น ความสามารถในการเข้าใจว่า เวลาเด็กไปหาหมอฟัน อาจเห็นหมอฟันเป็นปีศาจ หวาดผวา เห็นเข็มฉีดยา เหมือนระเบิดตอปิโดได้ โดยไม่ตัดสิน ว่าเด็กใช้ไม่ได้ เด็กผิด หรือไร้สาระที่เห็นแบบนั้น ทว่าเป็นความสามารถที่จะเข้าใจประหนึ่งเราเป็นเด็กคนนั้นเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญและหัวใจสำคัญที่สุดของกระบวนการคิดนวัตกรรม Design Thinking) 

การจะสร้างนวัตกรรมได้ ดูผิวเผิน อาจเข้าใจว่า ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างนวัตกรรม ก็อาจถูกบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีทีมทำนวัตกรรมเยอะมาก ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ความลับอยู่ตรงที่ว่า ถ้าตั้งเป้าว่าจะสร้างนวัตกรรม เพื่อได้นวัตกรรม อาจมีคนจำนวนไม่น้อย มีมุมมอง Mindset ต่อนวัตกรรม ผิดเพี้ยนไป ว่าเราต้องการ “ได้” อะไรจากกลุ่ม user (คนใช้นวัตกรรมเรา)

 

แต่นวัตกรรม แท้จริงเป็นผลลัพธ์ของการที่เราได้ไป “ให้” การช่วยเหลือ เนื่องจากได้เข้าใจกลุ่มคนที่เราต้องการช่วยเหลือเขา ในระดับเข้าถึงความรู้สึกที่เขาได้รับความเจ็บปวดลำบาก มีความต้องการบางอย่าง แต่ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม และเราต้องการไปช่วยเหลือเขาจนสำเร็จ ต่างหาก

 

เรียกว่า Mindset หรือมุมมองทางความคิดของเรา ถ้าต้องการ “ได้” นวัตกรรม เราอาจไม่ได้

แต่ถ้าเราต้องการ “ให้” ความช่วยเหลือคน (User) เพราะเราได้ไป “เข้าใจ” เขาอย่างลึกซึ้งถึงรากของพฤติกรรม, ความเชื่อ, ค่านิยม, วัฒนธรรม ฯลฯ และเราปรารถนาจะช่วยเหลือเขา และมี User เป็นศูนย์กลาง จะทำอะไรก็หมั่นขยันถาม ขยันขอฟีดแบ็คจาก User เพื่อประเมินผลสำเร็จ ไม่ใช่คิดเอง เออเอง เท่านั้น 

 

หรืออีกนัยหนึ่ง หากเราไม่สามารถเข้าใจคนที่เราอยากจะช่วยเหลือเขาอย่างแท้จริงแล้วล่ะก็ (คนที่เราจะช่วยเหลือเขา = User ซึ่งอาจหมายถึงลูกค้าภายนอก หรือลูกค้าภายในองค์กร หรือคนที่จะมาใช้ Solution ที่เราออกแบบให้) ก็ยากที่เราจะสร้างนวัตกรรมได้จนสำเร็จ 

 

2) หน้าตาของการ Empathy 

 

ศัพท์คำนี้ ทวีความฮอตขึ้นทุกเวลานาที “Empathy” หรือ “Empathize” 

แปลตรงๆ จากใน longdo dict ว่า 

 

Empathy: ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น, See also: ความสามารถในการเข้าใจความยากลำบากของผู้อื่น

 

Empathize: เห็นอกเห็นใจ, เข้าใจ

 

และส่วนตัวได้ยินมีผู้แปล (ขออภัยที่จำไม่ได้ว่าจากที่ไหน) ว่า “ความเข้าใจแบบร่วมรู้สึก”

สิ่งนี้ เป็นคุณสมบัติที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นทักษะความสามารถที่สำคัญอย่างพีคยิ่งยวดสำหรับผู้นำ ผู้บริหารและคนทำงานแห่งอนาคต

 

ถ้าตามทฤษฏีเลยก็จะบอกว่า ให้เราไปเป็น User ซะเอง ไปอยู่ในบริบทแวดล้อมเดียวกับ User (Immerse), ไปสังเกต และไปพูดคุยกับพวกเขา

ซึ่งเราจะเข้าใจ และเห็นภาพ และประทับลงในจิตที่สุด ได้ทันทีจาก ทุกพระราชกรณียกิจของในหลวง ร. 9

….

สิ่งที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวการสร้างนวัตกรรมของในหลวงก็คือ ทุกเรื่องราวในข่าวพระราชสำนัก ที่เราได้ยิน ได้เห็นจนชินตา จนหลายคนอาจมองข้าม

ที่จริงพวกเราคนไทย อยู่กับขุมทรัพย์อันล้ำค่าตลอดเวลา

ในหลวง ร. 9 ทรงลงพื้นที่จริง ไปบ่อยมาก ไปดู  ไปทำ  ไปสังเกต และไปพูดคุยกับเหล่าประชาชนสม่ำเสมอมาก ในหลวงทรงใช้วิธีสอบถามชีวิตความเป็นอยู่

และจากภาพที่ดู จะเห็นว่าท่าน ไปสัมผัสวิถีชีวิตของเหล่าพสกนิกรให้ใกล้ที่สุด (ทรงนั่งด้วยเลย อย่างซึ้ง T_T)

ยิ่งกว่านั้น ในหลวงทรงละเอียดอ่อน มีความเข้าใจในกระบวนการ และมีศูนย์กลางการสร้างนวัตกรรม ที่ตั้งบนพื้นฐานของการมี User เป็นศูนย์กลางอย่างแท้ทรู

คนเราปกติ เวลาทุ่มเททำโปรเจค หรือทำอะไรสักอย่าง พอขึ้นชื่อว่า เราเป็นคนทำแล้ว คนจำนวนไม่น้อย ก็จะเอาตัวเอง ไปผูกติดกับ “สิ่ง” นั้น ว่าคือ “เรา” หรือเรียกง่ายๆ ว่า พ่วงอีโก้มาพร้อมกับเจ้าสิ่งประดิษฐ์ของเราด้วย (เป็นธรรมดานะ เราก็เป็น คนส่วนใหญ่ก็เป็น) โดยไม่รู้ตัว แล้วก็พลอยมีโอกาส คิดเข้าข้างตัวเอง เห็นแต่โลกที่มีตัวเรา โดยหลงลืมไป ว่าใครกันแน่ ที่จะเป็นคนใช้ “สิ่ง” นั้น (กรณี User ไม่ใช่เราเอง) ทำเอง ก็คิดเองว่าดีแล้ว เราชอบแล้วล่ะก็ User ก็ต้องชอบด้วย  แล้วละเลยการถามหาฟีดแบ็คจากผู้ใช้งานจริง ซึ่งไม่รู้ตัวเลยว่า เพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีกเบอร์ไหน  กับการไม่ถาม User ดังนั้น ต้องมีสติ แล้วคิดไปถึงผู้ใช้งานให้มากๆ

เรื่องราวที่พบเห็นจากสตาร์ทอัพดังๆ ที่เล่าประสบการณ์แบ่งปันว่า ช่วงต้นของการทำนวัตกรรม ไม่ได้ออกไปถามหาฟีดแบ็คจาก user เลย หรือรอนานมากกว่าจะไปหาฟีดแบ็ค หรืออีกทางก็ถามคำถามชี้นำ แล้วดันมอง user ไม่ออก (เพราะบางทีพูดไม่ตรงตามที่รู้สึกจริง เพราะเกรงใจ) พาเอาขาดทุน เสียเวลา เสียทรัพยากรกันไปมหาศาล ซึ่งต้องขอบคุณที่นำบทเรียนมาเล่าสู่กันฟัง 

ดังนั้น หลุมพรางใหญ่ ที่จะทำให้เรานึกว่าทำ Empathy แล้ว แต่เป็น Empathy เทียมก็คือ

“การตัดสินคนอื่น (User) “

เมื่อไรก็ตามที่เราตัดสินคน เมื่อนั้นเราไม่ได้มีพื้นที่ในใจ เพื่อความเข้าใจเขาแล้ว

และจะเป็นหลุมพรางสำหรับการปักหมุด คิดแทน User ของเราว่า เขาคงมีปัญหาแบบนั้น แบบนี้ คิดเองไปตามกลีบสมองของเราเอง แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เห็น สามารถมีต้นสายปลายเหตุได้มากมายเหลือคณานับ ทางที่ดี เราค้นหาจากตัว User เองจะดีกว่า 

 

เพราะการที่เราตัดสินผู้อื่น อาจเป็นอุปสรรคขวางกั้น ไม่ให้เราเปิดใจมองเห็น ความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เรามองไม่เห็น เพราะเราไปมองเห็นในสิ่งที่มองหา  พอไม่มองหา แม้อยู่ตรงหน้า ก็จะไม่เห็น (เรื่องนี้ได้เรียนรู้จากคุณครูอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง)

แล้วสุดท้ายก็พบว่า ไม่เห็นเจอเลย ไม่มีอะไรใหม่ จากการไป empathize user 

 

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อทีมงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 สร้างนวัตกรรมเรือไฟเบอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนช่วงสึนามิ ซึ่งทั้งเบากว่า ทนกว่า ประหยัดกว่า ดีกว่าเรือไม้ทุกอย่าง จนทีมงานบอกจะเอาไปให้ชาวบ้านใช้แล้ว โชคดีมารายงานในหลวง ท่านก็ทรงถามว่า ไปถามชาวบ้านหรือยังว่าจะใช้ไหม ซึ่งทีแรกทีมงานว่าจะไม่ถามแล้ว เพราะมันดีกว่าเรือไม้ทุกอย่าง ไม่เห็นจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้ 

แต่ในเมื่อในหลวงทรงแนะนำให้ไปถาม ก็เลยไปถาม ปรากฏว่า ได้คำตอบที่พาเอาอึ้งกิมกี่กันทั้งหมด คือ ชาวบ้านไม่ใช้ เพราะเรือไฟเบอร์ไม่มี แม่ย่านาง! 

ทีมงานคอตกกลับมารายงาน ได้เจอสมเด็จพระเทพฯ จึงได้กราบทูล แล้วจึงมีโครงการทำพิธีอัญเชิญแม่ย่านาง (สมเด็จพระเทพฯ) ทรงมาเป็นแม่ย่านางให้ คราวนี้ ชาวบ้านถึงได้ยอมใช้เรือไฟเบอร์! 

คิดดูว่า ถ้าไม่ไปถาม (Empathize) ชาวบ้าน คิดดูแล้วกัน ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรือไฟเบอร์และทีมที่สร้างฯ

 

3) การจินตนาการ กับการ Ideate 

ก่อนที่จะมีสิ่งต่างๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ ต้องมีเกิดขึ้นก่อนในหัวของเรา

มันถึงจะเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ในภายหลัง

ปิ่นเคยได้ความเข้าใจเรื่องนี้จากครูอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง และสอดคล้องกับนักคิดนักเขียนนักนวัตกรรมผู้ประกอบการที่สำเร็จมากมายทั่วโลก

 

ซึ่งนั่นคือ พลังของจินตนาการ

จินตนาการไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง 

แต่มันคือ การเตรียมการเพื่อให้มันมีอยู่จริงได้ ถ้าเราหมั่นระลึกถึงมันมากพอ และใส่พลังที่จะทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้

 

และหลายๆ โปรเจคนวัตกรรมของในหลวง ก็อยู่ในจินตนาการของพระองค์ท่าน ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง

และท่านทรงล้ำเบอร์ไหน เมื่อหุ่นยนต์แพทย์ของไทย มีมาตั้งแต่สมัยโน้นนนนแล้ว ที่ว่า “โน้น” นั้น สุดๆ ของโน้นจริงๆ นะคะ กล่าวคือ ในปี 2497 (1954) เรียกว่า ก่อนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC/ Apple) จะเกิดขึ้นในโลกนี้เสียอีก

แถมหุ่นยนต์ทำสำเร็จ ด้วยนะ เดิน ไหว้ ฟัง ตอบได้ด้วย

คนยุคนั้น คิดไปไม่ถึง ไม่คิดว่าจะมีได้ด้วย แต่ในหลวงทรงคิด และทำให้เกิดขึ้นจริงด้วย แม่เจ้า!!!!

ที่มา ที่ไป เหตุผลการแก้ painpoint อะไรจึงสร้างหุ่นยนต์นี้ขึ้นมา มันใช่ มันซึ้ง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2VQltPh

 

4) ภาพรวม ระยะเวลาในการพัฒนานวัตกรรม

 

พวกเรา รับรู้แต่ละนวัตกรรมของในหลวงก็ตอนที่โปรเจคนั้นสำเร็จแล้วเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น กังหันน้ำชัยพัฒนา ฝนหลวง แก้มลิง ฯลฯ 

ดูไกลๆ เหมือนไม่ยากมาก 

แต่ถ้าเราไปดูภาพเบื้องหลังจริงๆ จะเห็นว่า แต่ละนวัตกรรม ก็ใช้เวลาในการพัฒนาเป็นสิบปี ยี่สิบปี สามสิบสี่สิบปีก็มี

แถม พอได้ final product แล้ว ก็ยังพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดนิ่งอีกด้วย เช่น  ฝนหลวง ใช้เวลา กว่าจะได้สูตรร่วม 20 ปี และพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอีกกว่า 40 ปี  กังหันน้ำชัยพัฒนา ใช้เวลาเป็นสิบปี

ถ้าไม่รักจริง ถ้าไม่ทุ่มเทจริง ถ้าไม่ยอมแพ้จริงๆ ไม่ต้องการช่วยจริงๆ มีหรือจะอดทนฝ่าพันทุกอุปสรรคและทำได้นานจนสำเร็จเช่นนี้

#ซึ้งแล้วซึ้งอีก

5) การสังเกต จำเป็นสำหรับการ Ideate 

นอกจากนี้ ท่านยังเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ เช่น 

หลุบ อุปกรณ์วัดน้ำเข้านา ภูมิปัญญาชาวบ้าน  ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาเป็นกังหันน้ำชัยพัฒนา, 

 

 

หรือ ลิงกับกล้วย มาเป็น โครงการแก้มลิง

 

สิ่งเหล่านั้น เป็นเรื่องทั่วไป ที่หลายคนอาจเผลอมองข้าม แต่ท่าน มองเห็น และคิดวิเคราะห์ ใส่พลังหาทางแก้ปัญหา จนได้เป็นนวัตกรรมขึ้นมามากมาย

สมาธิ ที่ท่านจดจ่อจะแก้ปัญหานั้นเอง คงเป็นส่วนที่ทำให้มองอะไรก็จะมองเห็นหนทางที่จะนำมาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนตลอด 

 

 

6) การทำต้นแบบนวัตกรรม (Prototype)

การทำต้นแบบ เพื่อทดลองทดสอบไอเดียนวัตกรรม ต้องทำมากน้อยแค่ไหน อย่างไร 

เราสามารถศึกษาของจริงได้จากโครงการที่ในหลวงทรงทำ

อย่าง กังหันน้ำชัยพัฒนา ก็มีต้นแบบถึง 9 แบบ 

ท่านทรงร่างแบบใส่กระดาษก่อน (เรียกว่า paper prototype) แล้วหลังทดลองทั้ง 9 แบบ ก็เหลือเข้ารอบ 2 แบบ และสุดท้ายเหลือเพียง แบบที่เราเห็นกัน

หรือกรณีฝนหลวง ก็มีการทดสอบหลายต่อหลายสูตร และพัฒนาต่อเนื่องด้วย

และแต่ละแบบ ก็มีคุณสมบัติเฉพาะ ที่เหมาะกับสภาพอากาศที่แตกต่างกันอีกด้วย 

 

7) การเล่าเรื่อง (Storytelling)

ในหลักสูตร Design Thinking ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในโครงการร่วมกับ SEAC (Yournextu) ที่ได้พัฒนาเนื้อหา อุดช่องว่างของการใช้ Design Thinking ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ที่มีการยกระดับความเข้าใจส่วนของ Business Case และ Storytelling ด้วย นอกเหนือไปจาก Empathy/ Define/ Ideate/Prototype/ Test นั้น 

 

เพราะพบว่า นวัตกรรมจำนวนมาก เทคโนโลยีไม่ว่าจำล้ำเลิศเบอร์ไหน ก็อาจตกม้าตายได้ ถ้าไม่อาจเล่าเรื่องที่ต้องการสื่อไปให้คนภายนอก โดยเฉพาะนักลงทุน เข้าใจและอินตามได้

ซึ่งการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยมีใครเห็น หรือเข้าใจมาก่อนหน้า ยิ่งทวีความสำคัญ คนไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ยากจะเห็นภาพและจินตนาการไปถึงได้ และในหลวง ท่านทรงเข้าใจประเด็นนี้เป็นอย่างดี

ท่านละเอียดอ่อนและทรงมิได้ละเลยจุดนี้เลย

 

ไม่ว่าจะพิถีพิถันในการตั้งชื่อโครงการนวัตกรรม ให้เห็นภาพ และจำง่าย ทั้ง “แก้มลิง”, “แกล้งดิน” ฯลฯ 

และอย่างการเล่าเรื่องฝนหลวง ท่านยังใช้การ์ตูนในการสื่อสารกระบวนการได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง

ไม่ว่าจะนำ “นางเมขลา” หรือ “เมฆอ้วน เมฆผอม” มาใช้ได้อย่างน่าสนใจ และน่ารักมากๆ

 

ภาพอธิบายการทำงานฝนหลวง นางเมขลา เมฆอ้วน เมฆผอม

8) ล้มไว เรียนรู้ไว  ล้มไม่แพง

Fail fast, learn fast, fail cheap, fail forward

 

ไวไม่ไว ดูจากปริมาณโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด 4,877 โครงการ ตลอดระยะเวลาขึ้นครองราชย์ 70 ปีของในหลวงรัชกาลที่ 9 (2489 – 2559) เฉลี่ยปีละ 70 โครงการ ตกทุกๆ 5 วันต้องมีโครงการใหม่เกิดขึ้น แม้ไม่ใช่ว่าทุกโครงการจะสำเร็จ หรือจะดังไปทุกโครงการ แต่ ยิ่งทดลองมาก โอกาสที่จะพบโครงการที่สำเร็จ ก็ยิ่งมากขึ้น 

 

พระองค์ทรงใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว มาใช้ในการทดลอง ไม่ว่าจะใช้พื้นที่ในวัง เพื่อทดสอบกังหันน้ำชัยพัฒนา, เครื่องบินโปรยยาฆ่าแมลงที่มีอยู่แล้ว มาปรับใช้ทดสอบฝนหลวง ฯลฯ

 

http://www.rdpb.go.th/th/Projects 

 

9) หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” 

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ได้ยินวลีนี้มาก็บ่อย

จะเข้าใจลึกซึ้งกันก็คราวนี้

วลีนี้ ไม่เพียงแต่เป็นยุทธศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้ข้าราชการและพสกนิกร เพื่อเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาและก้าวข้ามความท้าทายในการดำรงชีวิต แต่ยังเป็นพระราชจริยวัตรที่ทรงปฏิบัติให้เห็นอยู่เสมอผ่านวิธีการทรงงานในทุกๆ พระราชกรณียกิจของพระองค์

 

และแท้จริง เราสามารถถอดรหัสตามหลัก Design Thinking ได้เช่นกัน แถมสั้นกระชับดีด้วย

เข้าใจ = empathize , define

เข้าถึง = empathize (Immerse ไปหน้างาน ไปเห็นมุมมองของ user ผู้จะใช้นวัตกรรม หรือ คนที่เราจะไปช่วยเหลือ) 

พัฒนา = Iteration (Ideate/ prototype/ test และทำวนไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา)

 

 

 

 

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ 

ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำหรับทุกความมานะพยายามในการทรงเป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ เป็นความรักและเมตตาในพสกนิกรไทยตลอดมาค่ะ

 

มาถึงจุดนี้แล้ว

คิดว่า ถึงเวลาที่พวกเรา จะออกมาช่วยกันคิดหา Solution ใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับ User ของท่านกันแบบเต็มเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจจากในหลวงกัน

 

ประเทศเรา องค์กรเรา ตัวเรา ยังต้องการนวัตกรรมอีกมหาศาล

ร่วมสร้างสรรค์ไปด้วยกันค่ะ

เสริ์ฟด้วยใจ

#pintooh

https://www.facebook.com/pinpintooh 

Cr:

ขอบคุณรูปภาพจากทุกสื่อหนังสือพิมพ์, weloveking.org และในเว็บ TCDC และที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ที่เล่าเรื่องราวในหลวงทั้งผ่านหนังสือและสื่อต่างๆ ได้อย่างละเอียด และสนุกมาก

ขอบพระคุณครูอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง ครูคนสำคัญที่สอนให้เราคิดไปไกลกว่าตัวเราเอง ให้เราคิดถึงประเทศชาติ และข้อคิดดีๆ ลึกล้ำมากมาย

ขอบพระคุณ SEAC คณะ Faculty ทีมงานและสมาชิกทุกคน ตลอดถึง yournextu นวัตกรรมการเรียนรู้ที่คุ้มค่าในทุกมิติ ที่ทุ่มเททำเพื่อประเทศไทยในทุกลมหายใจ ก้าวไกลด้วยการนำเรื่อง Design Thinking มาเปิดโลก สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม อบอุ่น ที่พัฒนาไม่หยุดนิ่ง ใน yournextu community

นิตยสารคิด (Creative Thailand) ฉบับพิเศษเดือนธันวาคม 2559 อ่านและดาวน์โหลดฟรี : goo.gl/AwvS7P 

จากแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สู่บทเรียนเพื่อการสืบสานพระราชปณิธาน https://bit.ly/37OwGpk

Please follow and like us:
0

About pintooh

งานประจำ คือ เรียนรู้ และแบ่งปัน
> งานพิเศษ คือ ท้าทายตัวเอง
> งานอดิเรก ผูกพันกับดนตรี เกาหลี และแรงบันดาลใจทั้งปวงในโลกหล้า
::: Now I am practicing Storytelling + Vipassana + Life designing + Innovating :::

Check Also

บันทึกความทรงจำ เกี่ยวกับใครคนนั้น ที่เคยรักเมื่อ 20 ปีก่อน จนกระทั่ง..

  ในช่วงสุ …

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *