“ผมคิดว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ขีดจำกัด” หรือ โปรแกรมที่ “แข็งแกร่งที่สุด” ในโลกหรอก ผมอยากจะใช้ความพยายามให้มากขึ้นไปอีก เพื่อพัฒนาคุณสมบัติที่มีแต่ผมเท่านั้นที่ทำได้ เป็นคุณสมบัติของโปรแกรมที่มีแต่ผมเท่านั้นที่เล่นได้ และการแสดงที่มีแต่ผมเท่านั้น ที่ทำได้”
“I think there is no such thing as ‘the limit’ or ‘the strongest’ program in the world. I would like to make further efforts aiming at the quality only I can achieve, the program elements only I can execute, and the expression only I can make.”
— Yuzuru Hanyu (Sophie Moroi’s translation)
ช่วงนี้ดิฉันกำลังอินกับนักกีฬาแห่งแรงบันดาลใจคนนี้ Yuzuru Hanyu
ที่สร้างความสำเร็จอย่างสุดยอด เซอร์ไพรส์ผู้คนตลอด ทั้งที่ญี่ปุ่น และทั่วโลก
กับการคว้าแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกฤดูหนาว 2 ครั้งติดต่อกัน จากกีฬาสเก็ตน้ำแข็งลีลาชายเดี่ยว
สำแดงสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในโลกนี้ เช่น การแสดงที่ไม่มีข้อผิดพลาดใดใดเลย ในการทำสิ่งที่ยากแสนยาก
ได้ยินน้ำเสียงตกอกตกใจของนักพากย์ชาวตะวันตก ที่พอดูการแข่งขันของ Yuzuru แล้วถึงกับอุทานออกมาว่า How on earth!
เมื่อได้ค้นดูเรื่องราว และการแข่งขันของ Yuzuru ไปเรื่อยๆ สิ่งที่พบ เป็นเหมือนภาพซ้อนเข้ากันกับแนวคิด Design thinking อย่างน่าสนใจ
หรือว่า เส้นทางสู่การสร้างสิ่งที่แตกต่างในการแข่งขันกีฬา ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ให้กับโลก
แต่เป็นการสร้างการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ออกมาเป็นความสามารถใหม่
จะขออนุญาตเรียกเป็น “นวัตกรรมด้านความสามารถ” ประเภทหนึ่ง
[ อ่านรายละเอียดผลงาน และเรื่องราว ที่น่าทึ่งของ Yuzuru เพิ่มเติมได้ที่
แรงบันดาลใจ 10 ประการ จากเคล็ดลับความสำเร็จของเจ้าชายแห่งลานสเก็ต Yuzuru Hanyu เจ้าของแชมป์โอลิมปิก 2 สมัยซ้อน
Yuzuru Hanyu มีความเป็นผู้นำ ทำหลายสิ่งก่อนใครในโลก
เขากล้าที่จะแตกต่าง และ ท้าทายต่อความเชื่อเดิมๆ
การที่เด็กหนุ่มสักคน จะกล้าคิด กล้าฝึกตน เพื่อเป็นแชมป์โอลิมปิกในกีฬาสเก็ตน้ำแข็งชายเดี่ยว ที่ยังไม่เคยมีชาวเอเชียคนไหนทำได้มาก่อน เขาเป็นแชมป์โอลิมปิกกีฬาประเภทสเก็ตน้ำแข็งเป็นคนแรกของชนชาติญี่ปุ่น คนแรกของเอเชีย และเป็นคนที่ทำลายสถิติโลก (ซึ่งตัวเขาเองเคยเป็นคนสร้างเอาไว้เป็นส่วนใหญ่) มากมายถึง 12 ครั้ง เขามีกลวิธีคิดในการวางเป้าหมาย ในการใช้ชีวิต ยังไงนะ แล้วมันมาพอดิบพอดีกับแนวคิด Design thinking ได้อย่างไร
ว่าแต่ว่า Design thinking คืออะไร
ถ้าคุณผู้อ่าน ยังไม่เคยทราบเกี่ยวกับแนวคิด Design thinking ขออนุญาตอธิบายสั้นๆ ตรงนี้
จากโมเดล Design thinking แบบมาตรฐาน ที่ใช้กันใน d.school มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม (กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์)
สิ่งที่ดิฉันสนใจเกี่ยวกับ Design thinking คือ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ แต่ก็สามารถทำตามกระบวนการนี้ แล้วสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้
โดยพื้นฐานแล้วมีอยู่ 5 กระบวนการคือ
Empathize (ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้)
เป็นขั้นตอนของการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ที่เราจะนำเสนอสินค้าหรือบริการให้ อย่างถ่องแท้
อาจใช้วิธีสัมภาษณ์ (Interview) สังเกต (Observe) หรือเข้าไปแสดงบทบาทเป็นคนๆ นั้นก็ได้ (Immerse)
สาเหตุที่ต้องทำกระบวนการนี้ เพราะ เวลาเราหาทางออกอะไรสักอย่าง ไม่ใช่สักแต่การคิดแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์ แต่เราต้องกลับไปเช็คดูที่รากของปัญหา ว่า เราตั้งคำถามที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ เจอปัญหาที่แท้จริงแล้วหรือยัง
เพราะเราตั้งปัญหาผิด การแก้ไข ก็จะพลอยแก้ผิดจุด เปรียบเหมือนติดกระดุมผิดเม็ด กระดุมส่วนที่เหลือก็จะพลาดไปหมด แรงกาย แรงใจ เวลาที่เสียไปก็จะสูญเปล่าทั้งหมด ดังนั้น สองขั้นตอนแรก จะเกี่ยวข้องกับระบุปัญหาที่แท้จริง ไม่เช่นนั้น ก็เหมือนสร้างสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ ทำสิ่งที่คนไม่ได้ต้องการอย่างแท้จริง เกาไม่ถูกที่คัน
Define (ตีความปัญหาอย่างลึกซึ้ง)
หลังจากได้ข้อมูลวิจัยมาแล้ว ก็นำมาวิเคราะห์เลือกปัญหาที่น่าแก้ ตีความปัญหาที่แท้จริง เพื่อตั้งโจทย์ เป็นดาวนำทาง เป็นแผนที่ เป็นแรงบันดาลใจ ในการระดมสมองหาไอเดียเพื่อแก้ปัญหานี้ ในขัั้นต่อไป
Ideate (ผลิตไอเดีย)
เป็นขั้นตอนการระดมหาไอเดียที่สร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหานั้น
Prototype (สร้างต้นแบบ)
ไม่ใช่แค่คิด ส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการนี้คือ การทดลอง “ทำ” ออกมา เป็นต้นแบบ ที่ต้นทุนไม่แพง แต่เพียงพอที่จะนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายแสดงความเห็นที่มีได้ เป็นการคิดตัดสินใจและสร้างอุปกรณ์ในการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ด้วยต้นทุนที่ไม่สูง
Test (ทดสอบ)
เป็นขั้นตอนที่นำต้นแบบ (Prototype) ไปทดลองจริงกับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย ว่าตอบโจทย์เขามากน้อยแค่ไหน ต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง แล้วนำไปปรับแก้จนกว่าจะได้แนวทาง หรือนวัตกรรมออกมาโดนที่สุด ตอบโจทย์ที่สุด
กระบวนการ Design thinking นี้ไม่ได้เป็นเส้นตรง ต้องเริ่มจากกระบวนการแรก ไปจบกระบวนการสุดท้ายเสมอไป เราสามารถเริ่มต้นตรงไหนก่อนก็ได้ และสลับขั้นตอนกันไปมาอย่างไรก็ได้ และอาจวนไปวนมาตรงไหนก็ได้ จนกว่าเราจะได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน หรือลูกค้าของเรา
ตัดภาพกลับมาที่ การเดินทางสู่เหรียญโอลิมปิกของ Yuzuru Hanyu ที่ซ้อนกับ Design thinking นั้น
สิ่งแรกที่เห็น คือ
ภาพ Yuzuru ล้มบนสเก็ตน้ำแข็งอันยะเยือกจากการกระโดดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แล้วก็กระโดดดีขึ้นๆ จนไม่ล้ม เคล้ากับเสียงเชียร์กระหึ่มก้องลานสเก็ตในการแข่งขันระดับโลกหลากหลายครั้ง และคะแนนที่สูงจนสีหน้าของ Yuzuru เองก็ดี โค้ชรอบข้างก็ดี นักพากย์กีฬาก็ดี ที่ตกอกตกใจอย่างที่สุด ทำให้เรารู้เลยว่า นี่มันเป็นการค้นพบสิ่งใหม่
เบื้องหลังเบื้องลึกแล้ว คือ คลิปที่มีการไปส่องดูโต๊ะทำงานของ Yuzuru ซึ่งมีไดอารี่ ที่เขาบันทึกผลการ “ทดลอง” กระโดดของเขาทุกวัน ว่ายกขาแบบไหนเวิร์ค แบบไหนไม่ดี
“คติประจำใจผมคือ “พัฒนาทุกวัน” อาชีพนักแข่งสเก็ตสั้นกว่ากีฬาชนิดอื่น ผมอยากจะซ้อมหนักทุกวัน แล้วผลักดันตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน มากกว่าจะก้าวหน้าในทุกเดือน”
My motto is ‘To improve everyday’. Skaters’ competitive career is much shorter than in other sports. So, I would like to work hard everyday and push myself for progress every day rather than just making progress every month.”
–Yuzuru Hanyu
Prototype และ Test ดูจะสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาตนเองได้ ไม่ใช่แค่เพียงคอนเซปต์ในการใช้กับการพัฒนาสินค้าหรือบริการเท่านั้น
มันก็คือการ “ฝึกฝนแบบใช้สติปัญญา” คือ ผิดพลาดแล้วต้องเรียนรู้ เพื่อ “ปรับปรุง” ไม่ให้ผิดซ้ำอีก
ความคิดที่ทดลองกับตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง เพื่อค้นพบทักษะใหม่ แตกต่าง ก้าวหน้า จากเดิมที่ทำมา
ถือว่า ไอเดียในการทดลองกระโดดแบบต่างๆ เป็น Ideation ของเขา
วิธีเดียว ที่จะทำให้ทำได้…คือการลงมือทำ
The only way to do it is to do it.
– Merce Cunningham
สำหรับ Empathy และ define สะท้อนจากภาพของการวิเคราะห์การตัดสินของคณะกรรมการ และคู่แข่ง
และการใส่ใจแฟนคลับ ที่ให้กำลังใจเต็มสนาม
นอกเหนือจากนั้น
คำพูด และพฤติกรรมหลายอย่างของ Yuzuru สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับคนมาก มีทั้ง empathy ตั้งแต่คณะกรรมการ คนดู เพื่อนนักกีฬา คนดูแลสเก็ตน้ำแข็ง เจ้าหน้าที่ นักข่าว รวมทั้งประเทศชาติ เป็นอย่างดี
เขามาช่วยคนซ่อมลานสเก็ตเติมน้ำแข็งเองอีกด้วย
Ideation
การจะแข่งขันให้ชนะ ต้องมีการวางกลยุทธ์ เหมือนการวางกลยุทธ์การรบ จะตีเมืองด้วยการป่าล้อมเมือง หรือตีจากกลางออกมา ซึ่ง Yuzuru เองก็ได้มีการวางแผนการแข่งขันเพื่อให้ชนะ โดยคาดการณ์กลยุทธ์ของนักกีฬาคนอื่นๆ แล้วปรับเปลี่ยนไปตาม prototype & test
ถ้าถามว่าหัวใจของการนำแนวคิดแบบ design thinking ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมทางความสามารถของ Yuzuru คืออะไร
จากเรื่องราวของเขา จะเห็นว่า เขาทำ Prototype & Test มากเป็นพิเศษ (ซ้อมหนักมาก…ลงมือทำหนักมาก)
คำบอกเล่าที่เห็นหัวใจของความสำเร็จ ไม่ใช่อะไร นอกไปจาก การลงมือทำให้มากๆ สม่ำเสมอ วิเคราะห์ว่าอะไรดี อะไรต้องปรับ แล้วแก้ไข พัฒนาจนกว่าจะออกมาดีที่สุด อย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่หยุดยั้ง
“ถ้าคุณทำไม่ได้ จงซ้อมจนกว่าคุณจะทำได้
ถ้าคุณทำได้แล้ว จงซ้อมจนกว่าคุณจะทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ถ้าคุณทำได้สมบูรณ์แบบแล้ว จงซ้อมจนกว่าคุณจะทำได้สมบูรณ์แบบทุกครั้ง”
“If you cannot do it, practice until you can do it. If you can do it, then practice till you can do it perfectly. If you can do it perfectly, then practice until you can do it perfectly every time.”
— Yuzuru Hanyu
เห็นอย่างนี้แล้ว คุณผู้อ่านมีความเห็นเกี่ยวกับการนำวิถี Design thinking ไปปรับใช้กับชีวิตอย่างไรบ้างคะ
ถ้าเห็นว่าบทความดี มีประโยชน์ LIKE / SHARE / COMMENT เป็นกำลังใจให้คนเขียน จะขอบคุณมากๆ ค่า
ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ
Written with love by
#Pintooh
Please follow and like us: